แจ้งที่พักคนต่างด้าว แจ้ง ตม.30 ออนไลน์ (TM30 Online)

 

การแจ้งที่พักต่างด้าว (ตม.30)

การแจ้งที่พักต่างด้าว สิ่งที่ต้องทำเมื่อคุณมีผู้เช่าเป็นชาวต่างชาติ (แจ้ง ตม.30)

               สำหรับเจ้าของทรัพย์ที่ปล่อยเช่าทุกคนล้วนทราบดีว่า การปล่อยเช่าทรัพย์นั้นถ้าหากเราได้ผู้เช่าที่เป็นคนไทยถือว่าเป็นเรื่องปกติทำสัญญาเช่าแล้วก็จบเรื่อง แต่ถ้าหากว่าผู้เช่าเป็นชาวต่างชาติอันนี้เราจะทำสัญญาเช่าอย่างเดียวไม่ได้แล้วเพราะการที่เราปล่อยเช่าให้กับชาวต่างชาตินั้นถือเป็นการให้ที่พำนักพักพิงหากเราไม่ทำการแจ้งให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทราบว่าเราให้ชาวต่างชาติคนดังกล่าวเช่าทรัพย์ของเราอยู่หากเกิดปัญหา เช่น ผู้เช่าต่างชาติทำผิดกฎหมายอะไรขึ้นมา ตัวเจ้าของทรัพย์ที่ปล่อยเช่าอาจจะโดนดำเนินคดีทางกฎหมายไปกับเขาด้วย โทษฐานให้ที่พำนักการบุคคลต่างชาติ ดังนั้น หากเมื่อใดที่เรามีผู้เช่าเป็นชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะประเทศอะไรก็ตาม หน้าที่ของเจ้าของทรัพย์ก็คือต้องแจ้งที่พักต่างด้าว ให้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทราบ

การแจ้งที่พักต่างด้าว (ตม.30) คืออะไร

             คือการแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบว่า เราซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ได้ให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เข้าพักอาศัยในทรัพย์ของเรา หากเกิดผู้เช่าทำผิดกฎหมายอะไรขึ้นมาตัวเจ้าของทรัพย์จะได้ไม่โดนข้อหาไปด้วย

ใครมีหน้าที่ต้องแจ้งที่พักต่างด้าว (ตม.30)

           การแจ้งที่พักต่างด้าว เป็นหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์ที่จะต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทุกครั้งที่มีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในทรัพย์ของเรา 

           ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ซึ่งกำหนดไว้ว่า  

        "เจ้าบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่บ้าน เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นตั้งอยู่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ถ้าท้องที่ใดไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจในท้องที่นั้น

           ในกรณีที่บ้าน เคหสถาน หรือโรงแรมที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยตามวรรคหนึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองตรวจคนเข้าเมือง การแจ้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด"

ต้องแจ้ง ตม.30 เมื่อไร ภายในกี่วัน

  • ต้องแจ้งเมื่อมีชาวต่างชาติมาเข้าพักในทรัพย์ของเรา
  • ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ (ตม.) ทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มเข้าพัก

หากไม่แจ้งจะมีผลอย่างไร

          ตามบทกำหนดโทษของพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  มาตรา 77 กว่าวว่า "ผู้ใดไม่ปฎิบัติตามมาตรา 38 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2000 บาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จักการโรงแรม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2000 บาท - 10000 บาท"


แจ้งที่พักต่างด้าวได้ที่ไหนบ้าง

การแจ้งที่พักต่างด้าว (ตม.30) สามารถแจ้งได้ 3 ช่องทางดังนี้
  1. แจ้งด้วยตนเอง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะแจ้งที่ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ และพื้นที่ต่างจังหวัดให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่นั้นๆ
  2. แจ้งทางไปรษณีย์ โดยจะต้องส่งเอกสารต่างๆมาที่ กองงานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าว
    กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
  3. แจ้งทางออนไลน์ (Internet) ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเราจะสามารถแจ้งผ่านแอพของ ตม. โดยตรงได้เลย

ขั้นตอนการแจ้งที่พักต่างด้าว (ตม.30) ทางออนไลน์

  1. ให้เราดาวน์โหลด แอพ Section38 [Android / IOS] และติดตั้งลงโทรศัพท์ให้เรียบร้อย
    แอปแจ้งที่พักคนต่างด้าว  แจ้ง ตม.30  ออนไลน์ (Section38)
  2. ทำการลงทะเบียนโดยการใส่รายละเอียดเจ้าของทรัพย์ และทรัพย์ที่จะให้ชาวต่างชาติอาศัย เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้วให้กดลงทะเบียน จากนั้นรอ Email แจ้ง User และ Password สำหรับเข้าระบบ
    วิธีลงทะเบียนแจ้งที่พักต่างด้าว ตม.30 ออนไลน์ (Online)
  3. เมื่อได้รับ User และ Password ทาง Email เรียบร้อยแล้ว ให้เข้าระบบและตรวจเช็คข้อมูลทรัพย์ที่เราลงทะเบียนไว้ ว่าถูกต้องหรือไม่ จากนั้นให้กดที่ Icon "บันทึกแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพัก" จากนั้นกรอกรายละเอียดในช่องว่างให้ครบถ้วน และกดบันทึก ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
    วิธีแจ้งที่พักต่างด้าว ตม.30 ออนไลน์ (Online)

ความคิดเห็น